จะจ่ายถูก...จ่ายแพง ค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่ายทุกเดือน มีส่วนประกอบมาจาก 3 ส่วน...
การรณรงค์ประหยัดพลังงาน ไม่ว่า ประหยัดน้ำมัน...ขับรถไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปิดแอร์ช่วงพักเที่ยง หรือปิดหลอดไฟที่ไม่ได้ใช้ วิธีเหล่านี้ล้วนเป็นการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า ลดการใช้พลังงาน ด้วยการลดการทำงานของอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยมีศัพท์เทคนิคเรียกว่า..."การลดงาน (Safe Energy)"
ถ้าจะเปลี่ยนหลอดไฟ จากหลอดอ้วนเป็นหลอดผอม ถึงจะลดค่าไฟได้แต่เราจะได้แสงสว่างลดลง ยังไงหลอดผอมก็ให้แสงสว่างน้อยกว่าหลอดอ้วน แม้แต่การเพิ่มขนาดสายไฟให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้กระแสไฟฟ้าวิ่งได้ดีขึ้น ก็เป็นวิธีลดอัตราการสูญเสียในสาย หรือจะติดตั้งระบบปรับความเร็วรอบมอเตอร์ ก็ถือว่าเป็นการลดพลังงาน
แต่ถ้าเป็นการประหยัดพลังงานด้วยการบริหารการใช้ไฟฟ้า ศัพท์เทคนิคเรียกว่า การลดค่าดีมานด์ (Demand) หรือ ลดค่าปริมาณความต้องการพลังงานไฟฟ้า วิธีนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการประหยัดพลังงาน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แค่ปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า แต่ก็ยังได้งานเท่าเดิม
ดร.อภิชิต เป็นวิศวกรคนไทยที่มีฝีมือระดับโลก ได้รับรางวัลที่ 1 จากสถาบันด้านพลังงานระดับโลก ASHRAE FELLOW AWARD ประเทศสหรัฐอเมริกาลองมาดูไอเดียเซฟค่าไฟแบบใหม่ ฉบับภูมิปัญญาไทยที่ฝรั่งต้องยกนิ้วให้ ที่เรียกว่า "ไอซ์แบงก์ (Ice Bank)" ถือเป็นนวัตกรรมต้นแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดในโลก เป็นแนวคิดของ ดร.อภิชิต ล้ำเลิศพงศ์พนา ลูกคนจีนชาวสุไหงโก-ลก พ่อแม่ขายกาแฟฐานะยากจน แต่ด้วยความรักเรียน ลูกจีนคนนี้ก็สู้ชีวิต จนกลายเป็นผู้บริหารกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. จำกัด ผู้ออกแบบระบบทำความเย็นธุรกิจอาหารแช่แข็งให้กับบริษัทชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ
รางวัล ASHRAE จะมอบให้แก่องค์กรที่ผลิตระบบหรืออุปกรณ์การทำความเย็นที่ไม่เกิดมลพิษและลดโลกร้อน ประหยัดการใช้พลังงาน ขณะเดียวกันก็จะต้องทำความเย็นได้มาตรฐาน วัดออกมาเป็นผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หมายถึงว่า กระบวนการหรือวิธีคิดจะต้องเกิดเป็นรูปธรรมเรียบร้อยแล้ว จึงส่งเข้าประกวดได้
"ไอซ์แบงก์ (Ice Bank)" คือ ออฟฟิศโมเดลต้นแบบที่คิดค้นขึ้นจากพื้นฐานความรู้ในเรื่องพลังงาน ใช้หลักการทำความเย็นกับน้ำให้กลายเป็นน้ำแข็งในช่วงกลางคืน ที่เรียกว่าออฟพีค หรือช่วงเวลา 22.00-09.00 น.
จากการเก็บสถิติการใช้ไฟฟ้า พบว่าเวลาช่วงนี้ความต้องการพลังงานไฟฟ้ามีไม่มากประกอบกับการคิดราคาค่าพลังงานไฟฟ้า (กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง) จะมีราคาถูกกว่าในช่วงกลางวัน ช่วงเวลาทำงาน 09.00-21.00น. ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงและอัตราค่าพลังงานไฟฟ้ามีราคาแพงกว่ากลางคืน
หลักการง่ายๆ มีว่า ช่วงเวลาที่ค่าไฟถูก ระบบจะทำน้ำแข็งแล้วก็จะทำการละลายน้ำแข็งให้เป็นน้ำเย็นเพื่อปล่อยความเย็นออกมาใช้ในช่วงเวลาที่ค่าไฟแพง ลดการใช้แอร์และพลังงานไฟฟ้า ดร.อภิชิต บอกว่า ไอซ์แบงก์ทำงานโดยวิธีการจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ที่มีอยู่แล้วในอากาศทั่วไปซึ่งเกิดมาจากการเผาไหม้แม้แต่การหายใจของคนที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน นำมาอัดให้อยู่ในท่อวงจรของแอร์คอนดิชั่น เพื่อใช้เป็นน้ำยาตัวหนึ่งในระบบ
"สารทำความเย็น R404a มีศักยภาพดูดความร้อนก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ยังไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน เท่ากับเป็นการดึงก๊าซเรือนกระจกในธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์"
เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าปกติมีการนำคาร์บอนไดออกไซด์เกิดจากการเผาป่าหรือในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มาขายให้บริษัทที่ผลิตน้ำอัดลม หรือการทำน้ำแข็งแห้ง และทุกครั้งที่เราเปิดขวดน้ำอัดลม หรือเมื่อน้ำแข็งแห้งละลายเป็นน้ำ จะมีคาร์บอนไดออกไซด์กลับออกมาสู่ชั้นบรรยากาศอีก
"แต่ถ้าเราจับคาร์บอนไดออกไซด์มาอยู่ในท่อแอร์ให้เป็นน้ำยาตัวหนึ่ง น้ำยาจะรั่วไม่ได้ หากรั่วก็จะรู้ได้ทันทีเพราะแอร์จะไม่เย็น นั่นคือช่วยในการไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่ชั้นบรรยากาศอีกทางหนึ่ง"
กลไกการเก็บสะสมพลังงานในรูปน้ำแข็งสำหรับออฟฟิศใหม่นี้ ทำโดยการติดตั้งคอยล์ไอซ์แบงก์ แช่ในบ่อเก็บน้ำแล้วให้สารทำความเย็นไหลผ่านในท่อของคอยล์ไอซ์แบงก์ สารทำความเย็นที่ใช้มีอุณหภูมิต่ำติดลบ แต่ที่จุดเปลี่ยนของน้ำแข็งอยู่ที่อุณหภูมิเพียง 0 องศาเซลเซียส จึงทำให้น้ำในบ่อจับเป็นน้ำแข็งที่ผิวนอกคอยล์ไอซ์แบงก์และหนาขึ้นจนพลังงานที่เก็บสะสมเพียงพอกับโหลดการปรับอากาศในอาคารที่ต้องการ
"ช่วงกลางวันเมื่อต้องการใช้ระบบปรับอากาศ ระบบก็จะทำการปั๊มน้ำมาหมุนเวียนในบ่อไอซ์แบงก์ โดยมีอุปกรณ์เป่าลม ช่วยในการถ่ายเทความร้อนระหว่างน้ำกับน้ำแข็งให้ดียิ่งขึ้น เมื่อน้ำแข็งเริ่มละลายทำให้ได้น้ำเย็นที่จะไปจ่ายตามใบพัดลมในห้องต่างๆ เพื่อดึงความร้อนออกจากห้อง"
น้ำที่ไหลเวียนมีอุณหภูมิสูงขึ้น ก็จะนำความร้อนนี้มาใช้ละลายน้ำแข็งทำให้อุณหภูมิน้ำต่ำลงเป็นน้ำเย็นอีกครั้งแล้วหมุนเวียนใช้ในขบวนการของระบบปรับอากาศต่อไป
ชัดเจนว่าคอมเพรสเซอร์และคอนเดนเซอร์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในระบบทำความเย็น จะทำงานเฉพาะตอนกลางคืนเพื่อเก็บสะสมพลังงาน ส่วนกลางวันก็มีเพียงอุปกรณ์ที่ใช้ไฟไม่มากยังคงทำงานเท่านั้นเพื่อเป็นการหลบช่วงเวลาเร่งการใช้ไฟสูงสุดและมีอัตราค่าไฟสูงกว่า
"เรากำลังก่อสร้างออฟฟิศแห่งใหม่ที่รามคำแหง 114 ที่นี่จะนำระบบการบริหารการจัดการพลังงานแบบไอซ์แบงก์มาใช้ เพื่อให้เป็นอาคารสำนักงานต้นแบบให้เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้ คาดว่าจะเสร็จต้นปีหน้า มีพื้นที่การใช้สอย 3,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้าง 120 ล้านบาท"
ออฟฟิศต้นแบบที่ใครเห็นต้นทุนแล้วบอกว่าแพง ดร.อภิชิต แจงว่า ลงทุนค่าแอร์คอนดิชั่นในระบบ เป็นมูลค่า 10 ล้านบาท เปรียบเทียบกับการลงทุนติดตั้งแอร์ธรรมดาจะใช้เงินเพียง 6 ล้านบาท แต่การใช้ติดตั้งระบบไอซ์แบงก์ จะทำให้ดีมานชาร์ตหายไป ทำให้ค่าเอฟทีลดลง ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้า
"ในระยะยาวจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนให้ถูกลง เคยคำนวณเล่นๆ แอร์คอนดิชั่น ทั่วไปจะจ่ายค่าไฟเดือนละ 106,000 บาท ขณะที่ระบบไอซ์แบงก์จะเสียค่าไฟ 88,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น"
ลงทุนสูงกว่าครั้งแรกแต่คุ้มค่ามากกว่าในระยะยาว ยิ่งในธุรกิจอุตสาหกรรมหรือตึกของบิสิเนสเซ็นเตอร์บนพื้นที่ 1 ไร่เศษ ต้องเสียค่าไฟไปกับระบบทำความเย็นมูลค่าถึง 60% แต่หากเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้ทดแทนในระบบการทำความเย็นจะช่วยประหยัดไฟได้มากกว่ามาก
ภาพใหญ่ในทางมหภาค การใช้ไฟน้อยลงจะช่วยทำให้มีพลังงานเหลือเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม หลายคนอาจไม่ทราบว่า เขื่อนต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตลอดเวลาและทำงานเท่ากันทั้งกลางวันกลางคืน แต่ช่วงกลางคืน หากมีการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางคืนเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นการสร้างสมดุลการใช้ไฟฟ้าให้กับประเทศในภาพรวมด้วย
มองไกลออกไปอีกยิ่งประหยัดการใช้ไฟฟ้าได้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งช่วยชะลอเวลาในการสร้างโรงไฟฟ้าได้ในภาวะที่ประเทศยังมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง นอกจากนี้ยังช่วยลดปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าเรื่องของคาร์บอนเครดิตหรือคาร์บอนฟุตพรินต์ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนให้ลดลง
ปัญหาท้ายสุดของไอเดียภูมิปัญญาไทยที่บรรเจิด แม้ระบบไอซ์แบงก์จะมีมานานแล้ว แต่ยังไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ หยิบจับมาจัดการเป็นรูปธรรม ดร.อภิชิต ล้ำเลิศพงศ์พนา ฝากทิ้งท้ายว่า
"พลังงานแพง น้ำมัน แก๊ส ราคาพุ่งขึ้นทุกวี่วัน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะศึกษาประโยชน์ ความได้เปรียบเรื่องการจัดการพลังงานและพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง"
:: อ้างอิง : http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/308672
<< กลับหน้ากิจกรรมทั้งหมด